สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) หรือที่ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระนาง เป็นพระมเหสีชั้นลูกหลวงตำแหน่งพระราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่างพระมารดากับพระราชสวามี ด้วยพระองค์ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี
พระองค์เป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์แรกที่มีพระชนม์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการสถาปนาไว้ในที่ "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี (สกุลเดิม: บุนนาค) เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 (ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404) ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพ ในฐานะพระราชธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา ทรงพระราชพิธีถวายมหาสมณุตมาภิเษก จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี" พระบรมราชบิดาทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานพระนามเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลไว้ว่า
"ธิดาของเราที่บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี[note 1] จงทรงนามนั้นไว้ มีความสุขเสมอ อนึ่ง จงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีบริวารงดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ"
พระองค์เป็นพระราชธิดา "รุ่นกลาง" เช่นเดียวกันกับ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งต่อมา ได้ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยกัน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบมา พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในฐานะพระขนิษฐภคินี ทรงเปลี่ยนพระฐานะจาก พระเจ้าลูกเธอ เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
เมื่อมีพระชนมายุได้ประมาณ 15 พรรษา จากหลักฐานที่ปรากฏพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้น "ลูกหลวง" พระองค์ที่สองที่ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังพระองค์เจ้าสุขุมาลฯมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรในปี 2420 ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) พระองค์แรกที่มีพระชนม์[note 2] พระองค์จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี" โดยมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Royal Highness the Princess Consort" (หรือบางครั้งทรงใช้ Her Royal Highness Phra Nang Chao Phra Raj Dhevi) และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาลโดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
เมื่อผลัดแผ่นดิน พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โศกสลด และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหมซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของพระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังทุกประการ และสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาพระองค์เดียวนั้นได้สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 นี้เอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี ซึ่งทรงเป็น "เสด็จอธิบดี" ว่าราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ได้เสด็จออกมาประทับยังวังบางขุนพรหมเพื่อปลอบโยนพระราชหฤทัยพระพี่นางฯในครั้งนั้นด้วย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty Queen Sukumalmarsri, Royal Consort of His Majesty King Chulalongkorn" ทั้งนี้ มิได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศในทางราชการแต่อย่างใด จึงยังทรงดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีจนตลอดรัชกาลที่ 6
มีเกร็ดเล่ากันว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือพระนามโดยย่อว่า สมเด็จพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 และ 7 นั้น เนื่องจากทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีมาแต่รัชกาลก่อน ทรงครองพระอิสริยยศสูงสุดเหนือบรรดาพระมเหสีทั้งปวง ประกอบกับทรงเป็น "น้องเล็ก" มาก่อนจึงค่อนข้างแต่จะทรงเอาพระราชหฤทัยพระองค์เอง แต่ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีซึ่งทรงครองพระราชอิสริยยศสมเด็จพระอัครมเหสีมาแต่เดิม และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทั้ง 2 พระองค์นั้นในฐานะพระเชษฐภคินี (สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าฯ พระบรมราชเทวีนั้น เป็นพระโสทรเชษฐภคินี คือทรงร่วมพระราชบิดา-มารดาเดียวกันกับสมเด็จพระพันปีหลวง ส่วนพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีนั้น เป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระราชบิดา แต่ต่างพระมารดากันกับสมเด็จพระพันปีหลวง) ก็ทรงประทานอภัยให้เสมอ ในปลายรัชกาลที่ 6 ก่อนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จะเสด็จสวรรคตไม่นานนั้น สมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวรสมเด็จพระพันปีหลวง ณ พระราชวังพญาไท อันเป็นพระราชสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวงตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพันปีหลวงนั้นถึงกับทรงลงไปกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระบาทสมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง 2 พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้ว 3 พระองค์พี่น้องก็ทรงกอดกันทรงพระกันแสง จนนางพระกำนัล นางสนองพระโอษฐ์ที่อยู่แถวนั้นต้องร้องไห้ตามๆ กันไป
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีมีต่อพระองค์จึงทรงเฉลิมพระนามาภิไธยถวายเป็น "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า" และด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทรงเลื่อนพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระนามาภิไธยของทั้ง 2 พระองค์เป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty the Queen Aunt" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระอิสริยยศของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมเหสีลำดับสาม จึงมีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 7 นับว่าได้มีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์หนึ่งเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระอัครมเหสีอีก 3 พระองค์ในรัชกาลที่ 5 แต่เนื่องจากตามลำดับศักดิ์แล้วสมเด็จพระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นตำแหน่งสมเด็จอัครมเหสีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 จึงต้องมาก่อนถึงจะเป็นพระอัครมเหสีเหมือนกันก็ตาม ขณะนั้นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 และ 7 ยังทรงพระชนม์อยู่ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวีจึงมีพระอิสริยศักดิ์เป็นลำดับสองไปโดยปริยาย กอปรกับเป็นการเลื่อนพระยศในเวลาที่ล่วงมาแล้วถึง 2 รัชกาลอีกประการหนึ่งด้วย พระยศจึงไม่อาจเท่ากับพระอัครมเหสีที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5 ดังเช่นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีได้ (ขณะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระอัครมเหสีทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว)
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ในรัชกาลที่ 7 มิได้เป็นพระปิตุจฉาฯ ในรัชกาลนั้นอีก ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนจึงมีประกาศให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทั้งนี้ ประกาศนี้มิใช่พระบรมราชโองการ และมิใช่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหนังสือ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย เจฟรีย์ ไฟน์สโตน ระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสถาปนาพระนางเจ้าฯ พระองค์นี้เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" หากแต่ในหนังสือ มหามงกุฎบรมราชสันตติวงศ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงวินิจฉัยว่า พระอิสริยยศสุดท้าย คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ดังนั้น การออกพระนามาภิไธยในปัจจุบัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนสมควรออกพระนามาภิไธยโดยระบุรัชกาลให้ชัดแจ้งลงไป กล่าวคือ
แต่ควรออกพระนามว่า สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7 มากกว่า เนื่องจากเป็นพระราชอิสริยยศสุดท้าย และสูงกว่าพระราชอิสริยยศเดิม ดังเช่นที่ ให้ออกพระนาม เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ประมาณสิบวัน สมเด็จฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานพระพรให้แก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ความตอนหนึ่งว่า
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะ (ปอด) พิการในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พร้อมด้วยพระนัดดา และพระนัดดาทรงเลี้ยง ทรงหมอบเฝ้าฯ อยู่ข้างพระที่ พระศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย 100 วันเป็นกรณีพิเศษ พระเมรุ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงหนังสือ "สามก๊ก" แจกเป็นของที่ระลึก และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายหน้าพระศพทุกสัตมวาร
งานพระราชทานเพลิงพระศพจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และยังทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย เล่ากันว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทรงงานอยู่จนดึก พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็มักจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วย ทรงหมอบเขียนพระบรมราชโองการตามรับสั่งอยู่จนรุ่งเช้า ใกล้ ๆ กันนั้นมีเจ้าจอมก๊กออ ซึ่งเป็นพระญาติในราชนิกุลบุนนาค อยู่งานคอยถวายรับใช้ทั้ง 2 พระองค์
ถึงแม้ว่าพระมเหสีชั้นลูกหลวงอีกสามพระองค์ จะได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปก็ตาม แต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีกลับมิเคยได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเลยจนตลอดรัชกาลที่ 5 (เพิ่งจะได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 7 นี้เอง จากนั้นจึงถือว่าทรงดำรงพระยศพระอัครมเหสีพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ด้วย แต่การสถาปนาก็กระทำขึ้นเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วถึง 2 แผ่นดิน) พระฐานะอยู่ในลำดับกลาง ๆ เสมอมา ซึ่งอาจเพราะเหตุนี้ ถึงกับได้มีพระดำรัสว่า "แม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ" (จากพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) แม้แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีว่า
"ในรัชกาลที่ 5 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีอยู่ตลอดรัชกาล โดยเหตุผลอันใดผู้เขียนไม่เคยได้ทราบ มีพระราชโอรส-ธิดาประสูติ 2 พระองค์ การที่ท่านไม่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จฯ นั้นเป็นของแปลก เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง"
หลักฐานแห่งความ โปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นั้น มีปรากฏอยู่เนือง ๆ ดังเช่น พระมเหสีพระองค์นี้ น่าจะทรงเป็น "เมีย" คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชทานให้พระราชนิพนธ์นั้นมีว่า
เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี พระมเหสีเทวี พระราชวงศ์ฝ่ายใน รวมถึงสนมกำนัลทั้งปวงจะประทับหรือนั่งเรือพระที่นั่งลำเดียวกับพระมหากษัตริย์มิได้ แต่ในคราวที่เสด็จประพาสบางปะอิน เมื่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงเตรียมการเรือพระที่นั่งเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพอดี พระราชเทวีจึงจำต้องรีบเสด็จออกไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสาร มีรับสั่งให้พระนางเจ้าฯ พระราชเทวีเสด็จกลับมาประทับภายในเรือพระที่นั่งองค์เดียวกัน จัดเป็นครั้งแรกที่มีพระราชวงศ์ฝ่ายในได้ประทับร่วมเรือลำเดียวกับพระมหากษัตริย์
อีกหลักฐานหนึ่งแห่งความไว้วางพระราชหฤทัย ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์กับประเทศฝรั่งเศส (วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรอมพระราชหฤทัยมาก ถึงกับมีพระราชประสงค์จะเสด็จสวรรคต และได้ทรงพระราชนิพนธ์ความในพระราชหฤทัยขึ้นมา และพระราชนิพนธ์นั้นได้ทรงส่งไปพระราชทานเจ้านายเพียง 2 พระองค์เท่านั้น คือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระราชนิพนธ์นั้น โดยพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯได้ทรงพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพถวาย โคลงนั้นมีความว่า
เมื่อคราวที่สมเด็จพระราชโอรสฯ เสด็จไปทรงศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ติดต่อไปมาเสมอ มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งที่มีเนื้อความแสดงถึงความที่ทรงเป็น "แม่" อย่างสมบูรณ์อยู่ จึงขออัญเชิญ มา ณ ที่นี้ด้วย
"ในที่สุด โอวาทของแม่ฉบับนี้แม่ขอบอกแก่พ่อผู้เป็นลูกที่รักและที่หวังความสุขของแม่ให้ทราบว่า ตัวแม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ มักจะได้รับความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใดอันจะดับทุกข์ได้ นอกจากลูก เมื่อเวลาที่พ่อยังอยู่กับแม่แต่เล็ก ๆ มา ถึงหากว่าแม่จะมีความทุกข์มาสักเท่าใด ๆ เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกแล้ว ก็อาจจะระงับดับเสียได้ด้วยความรักและความยินดีของแม่ในตัวลูก ก็ในเวลาซึ่งพ่อไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปนี้ พ่อจงรู้เถิดว่า ข่าวความงามความดีของพ่อนั้น และจะเป็นเครื่องดับความทุกข์ของแม่ และอย่าประพฤติชั่วนอกคำสั่งสอนของแม่ จงตั้งหน้าเล่าเรียนให้ได้รับความรู้โดยเร็ว จะได้กลับมาหาแม่โดยไม่นานปี"
ถึงแม้ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงลืมความกตัญญูต่อเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา แม้ว่าท่านจะเป็นสามัญชนก็ตามที พระอิสริยยศที่สูงส่งเป็นถึงพระมเหสี มิได้ทำให้ทรงขาดความเคารพต่อพระมารดาแม้แต่น้อย แม้ว่าเจ้าคุณจอมมารดาจะโมโหดุว่าอย่างไร พระองค์ก็ไม่ทรงตอบโต้ ก่อนหน้าที่จะถึงพิราลัยไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา "เจ้าจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4" ขึ้นเป็น "เจ้าคุณจอมมารดาสำลี" เพราะเหตุที่ เป็นขรัวยายของสมเด็จเจ้าฟ้าโดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการพระราชทานตำแหน่งเจ้าคุณ อย่างเป็นทางการ[note 3][note 4] ครั้นเจ้าคุณจอมมารดาสำลีถึงพิราลัยล่วงไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษถึงกับให้เชิญศพตั้งในท้องสนามหลวงเพื่อที่พระราชเทวีจะได้มิต้องเสด็จไปไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในวันพระราชทานเพลิงศพถึงกับทรงเครื่องขาว และให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นลูกเธอในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 รวมถึงพระราชนัดดาทรงเครื่องขาวด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ถึงแก่พิราลัย ก็มิได้พระราชทานเกียรติยศเช่นนั้น ทำให้พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงวางพระองค์ลำบากไม่น้อย ทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม และเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระอัครมเหสีทั้ง 2 พระองค์ถึงกับทรงมีลายพระหัตถ์กราบถวายบังคมทูลลาจะสิ้นพระชนม์ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ก็ทรงพื้นเสีย และไม่รับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อยู่หลายวัน
ในฐานะพระเชษฐภคินี ทรงรักใคร่พระกนิษฐามาก มีรับสั่งย้ำกับพระราชโอรส และพระราชนัดดาเสมอว่า แม่มีลูกสองคน แต่มีน้องเพียงคนเดียว ลูกรักแม่อย่างไรก็ขอให้รักน้าอย่างนั้นด้วย ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาตลอดจนพระราชนัดดาก็ได้ทรงรับสนองพระราชเสาวนีย์ด้วยดี พระราชนัดดานั้นทรงเรียกสมเด็จฯ ว่า "เสด็จย่า" และเรียกเสด็จฯ อธิบดีว่า "เสด็จย่าพระองค์เล็ก"
และในฐานะพระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ถึงสองพระองค์ คงจะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีกว่าพระจริยวัตรของทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นพระราชธิดา และเป็นที่สนิทสิเน่หาของพระบรมราชบิดามาก โดยเป็นพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงถึงกรมหลวง[note 5] โดยมีพระนามกรมคือ ศรีรัตนโกสินทร[note 6] ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั้นก็เป็นพระราชโอรสที่โปรดปรานเช่นกัน ตรัสเรียกว่า "เจ้าฟ้านัมเบอร์ทู"[note 7] พร้อมกับทรงมอบหมายพระราชกิจสำคัญให้หลายอย่าง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นต้น ถึงขั้นหากว่าทรงขาดเฝ้าฯ ไปสักสองวัน จะมีพระบรมราชโองการว่า เจ้าชายหายไปไหนไม่เห็นมา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญาจะต้องรีบเสด็จออกมาตามพระองค์ไปเข้าเฝ้าฯ
เป็นตำหนักที่ตั้งอยู่หลังพระมหามณเฑียรตรงกับประตูสนามราชกิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
ตำหนักนี้เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น ทาสีชมพูลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหักข้อศอกเป็นรูปตัวอีนอนหงาย ( E ) ภายในขอบรูปตัวอีด้านทิศตะวันตกเป็นลานโล่งขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เหมือนลานกลางของตำหนักหลังอื่น ๆ มีทางเข้าอยู่ทางด้านทิศเหนือทำเป็นมุขมีหลังคาคลุมอัฒจรรย์ทางขึ้น มีทางเข้ารองอยู่ด้านทิศตะวันออก ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกประเทศอิตาลีตอนใต้ หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบี้องซีเมนต์ ฝาผนังแต่งด้วยการฉาบปูนแต่งผิวมีลักษณะเหมือนอาคารที่ก่อด้วยหินรูปสี่เหลี่ยมแท่งใหญ่ เน้นตามของและมุมของตำหนักทุกด้าน
ตั้งอยู่ที่สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองเป็นฐาน และมีซุ้มทิศเหมือนจัตุรมุข แต่ยาวไม่เท่ากัน ตอนบนเป็นสถูปบุด้วยโมเสคสีทอง ประตูและหน้าต่างเป็นบานไม้ปิดทองฝังลายกระจกสี ภายในบรรจุพระราชสรีรางคารของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) พระประยูรญาติ และพระราชโอรสธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลบริพัตร
ตั้งอยู่ที่ โรงพยาบาลสระบุรี ถนนเทศบาล 4 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เป็นอาคารหอผู้ป่วยพิเศษเดี่ยวมี 4 ชั้น ได้มีการเปิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2523
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี_พระราชเทวี